ปราสาทนครวัด
• ปีที่สร้าง : พุทธศตวรรษที่ 17 (พ.ศ. 1650 – 1693)
• รัชสมัย : รัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2
• ศิลปะ : ศิลปะแบบนครวัด
• ศาสนา : ศาสนาฮินดู ไวษณพนิกาย
• มหาปราสาทนครวัด ก่อสร้างในรัชสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ในพุทธศตวรรษที่ 17 (พ.ศ. 1650 – 1693) จุดประสงค์เพื่อสร้างอุทิศถวายแก่พระวิษณุเทพในศาสนาฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์ และยังใช้เป็นราชสุสานเก็บพระศพของพระองค์ ด้วยเหตุนี้มหาปราสาทนครวัดจึงถูกสร้างให้หันหน้าไปทางทิศตะวันตก ต่างจากปราสาทอื่นๆ ที่จะหันหน้าไปทางทิศตะวันออกเสียเป็นส่วนใหญ่
• อาณาขอมโบราณนั้นได้รับอิทธิพลความเชื่อจากอินเดียผ่านมาทางขวา ศาสนาฮินดูหรือศาสนาพราหมณ์นั้นยกย่องกษัตริย์ว่าเป็นเทพเจ้า เรียกว่า “ลัทธิเทวราชา” กษัตริย์คือตัวแทนของเทพเจ้าในโลกมนุษย์ ซึ่งมีการสร้างเทวสถานถวายให้ และเชื่อว่าเมื่อสวรรคตแล้ววิญญาณจะประทับอยู่ที่ปราสาท ซึ่งเป็นคติเทวราชาที่เชื่อว่ากษัตริย์คือเทวเจ้าอวตารลงมา
• ด้วยความเชื่อเช่นนี้เอง ที่ทำให้กษัตริย์ขอมเมื่อขึ้นครองราชย์ จึงตั้งหน้าตั้งตาสร้างปราสาทตลอดรัชกาลของแต่ละพระองค์ เป็นศาสนสถานสัญลักษณ์ของระบบสุริยะจักรวาลตามคติฮินดูหรือความหมายก็คือศูนย์กลางของโลกและจักรวาลนั่นเอง
• พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ทรงครองอาณาจักรขอมระหว่างปี พ.ศ. 1656 – 1693 รวม 37 ปี หลังสิ้นรัชกาลของพระองค์ กษัตริย์ขอมองค์ต่างๆ ที่ขึ้นครองราชย์ยังคงมีการก่อสร้างปราสาท แต่ไม่มีปราสาทใดเลยจะยิ่งใหญ่ไปกว่ามหาปราสาทนครวัดแห่งนี้
• นครวัดไม่ใช่เป็นเพียงสิ่งก่อสร้างที่มีขนาดใหญ่ที่สุดและสูงส่งเลิศเลอในบรรดาปราสาทขอมทั้งหมดเท่านั้น แต่ยังเป็นเมืองในตัวของมันเองด้วย นั่งคือมีฐานะเป็นทั้งเมืองหลวง และศาสนสถานประจำรัชกาลของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ที่สร้างอุทิศถวายแก่พระวิษณุ
ส่วนนอกสุดของนครวัดกั้นด้วยคูเมืองขนาดใหญ่ ยาว 1.5 กิโลเมตร กว้าง 1.3 กิโลเมตร มีพื้นที่ทั้งหมดเกือบ 2 ตารางกิโลเมตร การวางผังของปราสาทที่ไม่เหมือนปราสาทอื่น สังเกตได้จากโคปุระทางทิศตะวันตกของกำแพงนอกสุดจะมีขนาดใหญ่ที่สุดและใหญ่กว่าโคปุระอีก 3 ทิศ
ตัวปราสาท
• ประกอบด้วยโครงสร้างหลักที่เด่นๆ ของสถาปัตยกรรมขอม 2 ส่วน คือ ปิรามิดปราสาทและระเบียงคติที่เชื่อมติดกัน ในส่วนของปิรามิดปราสาทสร้างยกระดับขึ้นสูง 3 ชั้น แต่ละชั้นแบ่งเป็นสัดส่วนด้วยระเบียงคต มีโคปุระอยู่ทั้งสี่ทิศหลักและศาลาที่มุมทั้งสี่มุม หรือปราสาทบริวารล้อมรอบของปรางค์ประธาน
• ด้วยขนาดที่ใหญ่โตของนครวัด สัญลักษณ์ต่างๆที่แทนในสิ่งก่อสร้างทั้งหลายตามคติความเชื่อในศาสนาฮินดูก็ให้ภาพและความรู้สึกที่คล้ายจริง คูเมืองหมายถึงมหาสมุทรที่ล้อมรอบโลก ระเบียงคตที่เชื่อมกันล้มรอบปราสาท หมายถึงเทือกเขาน้อยใหญ่ที่ล้อมรอบเขาพระสุเมรุที่ประทับของเทพเจ้า และตัวปราสาทชั้นบนสุดหรือปรางค์ประธานหมายถึงยอดเขาพระสุเมรุ การได้ขึ้นไปถึงปรางค์ประธานอันสูงชันก็เหมือนการจำลองการขึ้นเขาพระสุเมรุจริงๆ
• จุดเด่นที่สุดจุดหนึ่งของมหาปราสาทนครวัด นอกจากสิ่งก่อสร้างอันยิ่งใหญ่มหัศจรรย์ คือภาพสลักบนผนังด้านในของระเบียงคตชั้นล่างของตัวปราสาทแม้เรื่องราวส่วนใหญ่จะมาจากมหากาพย์และคัมภีร์พระเวทของศาสนาฮินดู แต่ก็ไม่ลืมกล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของกษัตริย์ผู้สร้างไว้ด้วยโดยสลักเป็นรูปกระบวนทัพของพระองค์ ส่วนหนึ่งในภาพสลักนี้มักเป็นที่สนใจหยุดชมของนักท่องเที่ยวเสมอ คือภาพกองทัพชาวสยาม ซึ่งปัจจุบันยังหาข้อสรุปแน่ชัดไม่ได้ว่าเป็นชาวสยามกลุ่มใด โดยมีลักษณะเด่นที่การแต่งกาย การเดินทัพที่ดูไม่เป็นแถว ไม่เป็นระเบียบ
ปราสาทชั้นนอก
• ทางดำเนินเข้าสู่มหาปราสาทนครวัดมี 5 ประตู ประตูใหญ่อยู่ตรงกลางสำหรับพระมหากษัตริย์ดำเนินเข้าสู่นครวัด ส่วนทางเข้าที่เล็กกว่าถัดออกไปสำหรับเสนาบดี และที่ไกลสุดอีกสองแห่งมีขนาดใหญ่ที่สุดสำหรับประชาชนทั่วไปรวมทั้งสัตว์พาหนะ
• ภาพสลัก : ภาพสลักที่มหาปราสาทนครวัดนับเป็นสิ่งที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งของศิลปะขอม จนได้ชื่อว่าเป็นศิลปะยุคนครวัด ปรากฏอยู่ที่ผนังด้านในระเบียงคตชั้นนอกสุดของตัวปราสาท พื้นที่รวมของภาพสลักมีนาดใหญ่มาก ยาวเกือบ 600 เมตร เนื้อหาของภาพส่วนใหญ่มาจากคัมภีร์พระเวท และมหากาพย์ของสาสนาฮินดู
• การชมภาพแกะสลัก : การชมภาพสลักภาพที่ไม่ควรพลาดมี ภาพการรบที่ทุ่งกุรุเกษตรในมหาภารตะยุทธ ภาพขบวนทัพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ภาพการตัดสินความคดีและความชั่วของพญายม ภาพการกวนเกษียรสมุทร และยังมีภาพอื่นๆอีกมากมายหลายร้อยภาพให้ได้ชมกัน
ภาพการรบที่ทุ่งกุรุเกษตร
• เป็นเรื่องราวในมหาภารตยุทธ กล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างพี่น้องสองตระกูล คือตระกูลปาณฑพ และเการพ ทั้งสองตระกูลยกทัพมารบกันขั้นแตกหักที่ทุ่งกุรุเกษตรทางตอนเหนือของอินเดีย ภาพสลักมีความยาว 49 เมตร เล่าเรื่องขณะสู้รบกัน ตระกูลเการพอยู่ทางด้านซ้ายและตระกูลปาณฑพอยู่ทางด้านขวา ขอบภาพทั้งสองด้านเป็นภาพของทหารแต่ละฝ่ายยืนเรียงแถวกันเป็นระเบียบ มีนายทหารบนรถม้าศึกและหลังช้างการรบถึงขั้นตะลุมบอนรุนแรงที่บริเวณที่บริเวณกลางภาพ มีตัวละครเด่นๆ คือ ภีษมะ แม่ทัพของฝ่ายเการพอรชุน แม่ทัพฝ่ายปาณฑพ และพระวิษณุ ที่อวตารลงมาเป็นพระกฤษณะ ซึ่งเป็นผู้ขับรถศึกให้อรชุน การรบดำเนินมาจนวันที่สิบ อรชุนก็สังหารภีษมะ จะเห็นภาพภีษมะนอนตายบนลูกธนูที่ถูกยิงทั่วทั้งตัว การรบสิ้นสุดลงในวันที่สิบแปด โดยตระกูลปาณฑพเป็นฝ่ายชนะและถือเป็นวันสิ้นสุดของยุค
ภาพขบวนทัพของพระเจ้าสุรยวรมันที่ 2
• นับเป็นภาพสลักที่ต่างจากทุกภาพ คือเป็นภาพจากเรื่องจริงในประวัติศาสตร์ มีความยาวถึง 94 เมตร โดยแบ่งภาพออกได้เป็นสองส่วน ส่วนแรกเป็นช่วงที่ยังไม่จัดตั้งขบวนทัพ ส่วนที่สองเป็นภาพขบวนทัพ ในส่วนแรกนั้นแบ่งเป็นสองชั้น ชั้นบนเป็นภาพพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ประทับบนราชบัลลังก์ ล้อมรอบด้วยเหล่ารัฐมนตรี และแม่ทัพนายกองที่มาเฝ้า
• ชั้นล่างเป็นภาพขบวนของเจ้าหญิง พระธิดาบนเสลี่ยง เมื่อสิ้นสุดภาพในส่วนแรกก็เริ่มเป็นภาพขบวนทัพของทหารเดินเรียงไปตลอดแนว พร้อมกับแม่ทัพนายกองของแต่ละกองทัพบนหลังช้าง เกือบหน้าสุดของขบวนทัพเป็นกองทัพที่มีลักษณะแตกต่างจากทัพอื่นทหารมีใบหน้าที่โค้งมน สวมเสื้อลายดอก นุ่งผ้าคล้ายกระโปรง ชายผ้ายาว สวมหมวกทรงสูงเป็นชั้นๆ ที่ปลายมีภู่ยาว แม่ทัพอยู่บนหลังช้างเช่นกัน สันนิษฐานว่าเป็นทัพของชาวสยาม
นรก สวรรค์ การพิพากษาของพญายม (ระเบียงคตทิศใต้ ด้านทิศตะวันออก)
• ภาพสลักนี้นักโบราณคดีหลายท่านเชื่อว่าหลังจากที่พระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 เสด็จสวรรคตแล้ว ลักษณะของภาพแบ่งเป็นสองตอน แต่ละตอนแบ่งออกเป็นสองถึงสามชั้น ซึ่งชั้นบนจะเป็นบนโลก และสวรรค์ ชั้นล่างสุดเป็นรก ในตอนแรกซึ่งอยู่ทางด้านซ้ายของภาพ เป็นภาพของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 เสด็จนำเหล่าข้าราชบริพารที่ดีขึ้นสวรรค์ พวกอสูรและคนไม่ดีตกนรก ในตอนที่สองชั้นกลางเป็นภาพพญายมสิบแปดมือนั่งพิพากษาความดี-ชั่ว ของคนตายบนหลังควายซึ่งเป็นสัตว์พาหนะ และภาพที่นับเป็นจุดเด่นของภาพสลักนี้คือภาพชั้นล่างของนรกขุมต่างๆ ที่มีการทรมารคนชั่วคนบาปตามคติขอมเชื่อว่านรกภูมิแบ่งเป็นชั้นถึง 32 ชั้น
ภาพกวนเกษียรสมุทร
• การกวนเกษียรสมุทรมีจุดประสงค์เพื่อผลิตน้ำอมฤต โดยใช้เวลาถึง 1,000 ปี น้ำอมฤตนั้นมีฤทธิ์ทำให้ผู้ที่ได้ดื่มกินเป็นอมตะ บางตำรากล่าวถึงสาเหตุของการกวนเกษียรสมุทรว่าเนื่องมาจากเทวดาและอสูรมักจะสู้รบ ยกทัพมาปราบอีกฝ่ายบ่อยครั้ง ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะอยู่เรื่อยมา ฝ่ายเทวดาจึงไปขอคำปรึกษากับพระวิษณุว่า ทำอย่างไรจึงจะรบชนะเหล่าอสูรได้ตลอดทุกครั้งพระวิษณุจึงแนะนำเรื่องการกวนเกษียรสมุทรเพื่อผลิตน้ำอมฤต ซึ่งเป็นงานที่ใหญ่และต้องใช้พละกำลังมาก โดยใช้ภูเขามันทระเป็นแกนหมุน ใช้นาควาสุกรีแทนเชือกพันรอบเขามันทระแล้วแบ่งเป็นสองฝ่ายผลัดกันดึงสลับไป-มา เทวดาได้ยินดังนั้นก็ออกอุบายยืมแรงอสูรให้มาช่วยดึงนาคเพื่อกวนทะเลน้ำนม และให้สัญญาว่าจะแบ่งน้ำอมฤตที่ได้ให้ ฝ่ายอสูรเห็นดีก็ตอบตกลง จึงแบ่งด้านกันกวน ฝ่ายเทวดาอยู่ดึงนาควาสุกรีด้านหาง ฝ่ายอสูรให้ดึงด้านหัว
• การกวนครั้งนั้นใช้เวลานาน เขามันทระก็ค่อยๆ เจาะโลกลึกลงๆ พระวิษณุเป็นห่วงว่าโลกจะทะลุหรือแตกสลาย จึงได้อวตารเป็นเต่า (ปางกูรมาวตาร) เอากระดองรองรับเขามันทระไว้ (ซึ่งเป็นตอนที่ปรากฏบนฝาผนัง)
• จากขอบภาพด้านซ้ายจะเป็นภาพกองทัพเหล่าอสูรเตรียมตัวพร้อมรบ เพื่อแย่งน้ำอมฤตมาเป็นของตนฝ่ายเดียว ถัดไปจึงเป็นหัวแถวกวนเกษียรสมุทรด้านอสูร ตนแรกที่เป็นผู้ถือหัวนาควาสุกรีคือทศกัณฑ์ จากจุดนี้บ่งบอกได้ว่า ขอมโบราณได้รวมเอามหากาพย์รามายณะรวมกับคัมภีร์พระเวท ถัดไปเป็นแถวอสูรอีก 91 ตน ไปจนถึงกลางภาพ จะเห็นพระวิษณุสี่กร คอยควบคุมการกวนอยู่หน้าเขามันทระ ใต้เขามันทระเป็นเต่าเอากระดองรองเขา เหนือเขามันทระมีพระอินทร์คอยจับเขาให้ตรง ถัดไปด้านขวาเป็นแถวของเทวดา 88 องค์ ท้ายสุดผู้ถือหางคือหนุมาน ช่วงท้ายของภาพเป็นกองทัพของเหล่าเทวดาเตรียมตัวแย่งน้ำอมฤตจากอสูรเช่นเดียวกัน
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น