วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2552

ปราสาทเขาพนมรุ้ง

ปราสาทเขาพนมรุ้ง ตั้งอยู่บนยอดเขาพนมรุ้ง ปัจจุบันอยู่ใกล้กับบ้านตาเป๊ก ตำบลตาเป๊ก อำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือใกล้กับชายแดนด้านกัมพูชา

เขาพนมรุ้งเป็นภูเขาไฟเก่า เป็นส่วนหนึ่งของทิวเขาพนมดงเร็ก เป็นยอดเขาขนาดใหญ่ที่สุดและสูงที่สุด ความสูง 383 เมตรจากระดับน้ำทะเล ความกว้างจากด้านตะวันออกไปทางตะวันตก 4 กิโลเมตร ความยาวจากเหนือไปใต้ 6 กิโลเมตร (สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ 2539:51)

ปราสาทเขาพนมรุ้งเป็นเทวาลัยในศาสนาฮินดู ปรางค์อิฐองค์แรกสร้างขึ้นเมื่อประมาณกลางพุทธศตวรรษที่ 15 เชื่อกันว่าได้รับการบูรณะซ่อมแซมโดยพระเจ้าราเชนทรวรมันที่ 2(พ.ศ.1487-1511) และพระเจ้าชัยวรมันที่ 5 (พ.ศ.1511-1544) กษัตริย์เขมรซึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์ศาสนาฮินดูลัทธิไศวะนิกาย ลัทธิดังกล่าวรุ่งเรืองตลอดพุทธศตวรรษที่ 14 จนถึงพุทธศตวรรษที่ 18 ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จึงถูกเปลี่ยนเป็นอาคารทางพุทธศาสนามหายาน
ปราสาทเขาพนมรุ้ง มีสิ่งก่อสร้างเรียงจากเชิงเขาขึ้นไปจนถึงยอดเขาตามลำดับ คือ สิ่งก่อสร้างนอกระเบียงชั้นนอก ระเบียงชั้นนอก ระเบียงคดชั้นใน และส่วนที่เป็นสถานที่ซึ่งสร้างด้วยหินทราย และศิลาแลงภายในระเบียงคดอีก 6 หลัง ดังจะกล่าวถึงตั้งแต่ส่วนสิ่งก่อสร้างจากเชิงเขาถึงองค์ปราสาทบนยอดเขาตามลำดับ ดังนี้

1. บันไดต้นทาง เริ่มจากเชิงเขาด้านล่างทิศตะวันออกก่อด้วยศิลาแลงเป็นชั้น ๆ 3 ชุด สุดบันไดเป็นชาลารูปกากบาท

2. พลับพลา เป็นอาคารโถงสร้างด้วยหินทราย และศิลาแลง ตั้งอยู่เยื้องชาลารูปกากบาทไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นที่พักเปลื้องเครื่องทรงของกษัตริย์ และจัดกระบวนเสด็จก่อนที่จะเสด็จขึ้นไปประกอบพิธีการบนปราสาท

3. ทางดำเนิน เป็นทางเดินต่อจากบันไดชาลากากบาทปูด้วยศิลาแลง ขอบเป็นหินทราย บนขอบเป็นเสาหินทรายยอดคล้ายบัวตูม เรียงตรงกันเป็นระยะ 2 แถว

4. สะพานนาคราช สร้างด้วยหินทราย ราวสะพานทำเป็นลำตัวพญานาค 5 เศียร เป็นจุดเชื่อมทางดำเนินกับบันไดขึ้นปราสาท และทางสู่สระน้ำ 2 สระ ซึ่งเป็นช่วงแรก ช่วงที่ 2 อยู่ภายในระเบียงคด ช่วงที่ 3 เชื่อมซุ้มประตูกับปรางค์ประธาน

5. บันไดขึ้นปราสาท สร้างด้วยหินทราย เชื่อมสะพานนาคราชช่วงแรกเพื่อขึ้นสูงไปยังลานบนยอดเขา

6. ทางสู่ปราสาท คือ บันไดทางขึ้นทั้งสองข้างของบันไดขึ้นปราสาทชั้นที่ 4

7. ระเบียงชั้นนอก เป็นทางเดินโล่งยกพื้นเตี้ย ๆ ปูพื้นด้วยศิลาแลงบรรจบกับทางเดินเข้าสู่ปราสาทด้านข้างทั้งสองข้าง

8. ซุ้มประตูและระเบียงคดชั้นใน สร้างด้วยหินทราย และศิลาแลง ลักษณะเป็นห้องยาวต่อเนื่องกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีหลังคาคลุมแต่ไม่ทะลุถึงกันเพราะทำเป็นผนังกั้นเป็นช่อง ๆ ภายในพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าของระเบียงคดชั้นในซึ่งเป็นที่สำคัญที่สุด อาจเรียกได้ว่า เป็นชุดอาคารที่เป็นปราสาทชั้นใน มีอาคารโบราณสถานอยู่ 6 หลัง ดังนี้

1. ปรางค์ประธาน สร้างด้วยหินทราย ตั้งอยู่กลางลานประสาทชั้นใน ลักษณะเป็นรูป สี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุม ขนาด 8.20X8.20 เมตร สูง 27 เมตร มีมุข 2 ชั้น ทางด้านทิศเหนือ ทิศใต้ และทิศตะวันตก อายุสมัยราวพุทธศตวรรษที่16-17

2. ปรางค์น้อย สร้างด้วยหินทรายและศิลาแลง ตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของ ปรางค์ประธาน ลักษณะสี่เหลี่ยมจตุรัสย่อมุม ขนาด 6X6 เมตร สูง 5.5 เมตร อายุสมัยราวพุทธศตวรรษที่ 16

3. ปรางค์อิฐ 2 องค์ สร้างด้วยอิฐและหินทราย ตั้งอยู่ใกล้ปรางค์ประธานด้านทิศตะวัน ตกเฉียงเหนือ องค์หนึ่งหันหน้าไปทิศตะวันออก อีกองค์หนึ่งหันหน้าไปทางทิศใต้ อายุสมัยราวพุทธศตวรรษ ที่ 15

4. บรรณาลัย สร้างด้วยศิลาแลงลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีประตูเข้า-ออก ด้านเดียว หลังคาเป็นรูปประทุนเรือ มี 2 หลัง คือ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ของปรางค์ประธาน อายุสมัยพุทธศตวรรษ ที่ 18 (กองโบราณคดี, กรมศิลปากร 2536:58-61)

ปราสาทเขาพนมรุ้ง เป็นทั้งสิ่งก่อสร้างที่แสดงความเชื่อ ความศักดิ์สิทธิ์ และเป็นศูนย์รวมแห่งความงดงามในด้านศิลปะและสถาปัตยกรรม ความโดดเด่นอยู่ที่การเลือกสถานที่สร้างปราสาท เมื่อเริ่มเดินขึ้นจากเชิงเขาอันเป็นทางที่ปูด้วยศิลาแลง ค่อย ๆ ขึ้นไปตามชั้นและบันได เกิดความรู้สึกเหมือนกำลังเดินขึ้นสู่สวรรค์ หรือขึ้นสู่เทวโลก

เมื่อไปถึงบริเวณชั้นบนสุดอันเป็นที่ตั้งองค์ปราสาท ทำให้อยู่สูงเหนือภูมิประเทศโดยรอบ มองเห็นรอบทิศ เหมือนอยู่บนยอดแห่งจักรวาล ครั้นเข้าสู่บริเวณชั้นในระเบียงคดอันเป็นที่ตั้งขององค์ปราสาท รูปหินที่บรรจงแกะสลักงดงามเป็นเรื่องราวต่าง ๆ ก็ให้ทั้งความพิศวง ให้ทั้งความงาม ให้ทั้งความรู้ จะยกมาเพียง 2 เรื่อง เป็นตัวอย่าง ดังนี้

1. รูปพระวิษณุอนันตศายิน บนทับหลังด้านทิศตะวันออกของมณฑป (Reclining Visnu on lintel, eastern face of antechamber) ซึ่งอยู่เหนือประตูทางเข้าปรางค์ประธาน รูปพระวิษณุนี้เราได้ยินชื่อเสียงและโด่งดังไปทั่วโลก คือ รูปนารายณ์บรรทมสินธุ์ หมายถึงตอนที่พระนารายณ์กำลังบรรทมอยู่เหนือพญาอนัตนาคราชท่ามกลางเกษียรสมุทร

รูปนารายณ์บรรทมสินธุ์นี้ได้หายไปจากปราสาทเขาพนมรุ้ง เป็นเวลานานและมีการสืบค้นมาโดยตลอด ตอนหลังพบว่าอยู่ในอเมริกา มีการเรียกร้องโดยคนไทยและนักวิชาการร่วมแรงร่วมใจกันต่อสู้ให้ได้ทับหลังกลับคืน และก็ได้กลับมาให้เห็นอยู่ที่เดิม

รูปนารายณ์บรรทมสินธุ์เกี่ยวข้องกับศาสนาพราหมณ์ เกี่ยวข้องกับการสร้างโลก การบรรทมเกี่ยวกับยุค คือเวลาของโลกแต่ละกัลป์ พระนารายณ์บรรทมเมื่อใด จักรวาลจะถูกทำลาย จากจุดเริ่มต้นสร้างโลกจนถึงโลกถูกทำลายนับได้หนึ่งกัลป์ (สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ 2539:312-318)

2. รูปพิธีเบิกพรหมจรรย์ บนหน้าบันชั้นลดทิศตะวันออก ด้านทิศใต้ของมณฑปปราสาทประธาน (Tantric ceremony on southern half-pediment , antechamber, main sanctuary) เป็นภาพสลักกลุ่มบุคคลจำนวนหกคน (ชำรุดหนึ่งคน) กำลังประกอบพิธีกรรมบางอย่าง โดยจำหลักภาพบุคคลซึ่งแตกชำรุดกำลังนั่งงอขาและเอนกายมาทางเบื้องหลังเล็กน้อย โดยใช้แขนยันพื้นไว้และมีรูปบุรุษนั่งประกอบทางด้านหลังสองคน เบื้องหน้าของบุคคลดังกล่าวประกอบด้วยบุคคลสามคน ซึ่งคนแรกเป็นสตรีกำลังยืน และอีกสองคนเป็นบุรุษ โดยคนหนึ่งใช้มือซ้ายจับเท้าของบุคคลที่นั่งงอขา ส่วนในมือขวากำลังถือวัตถุทรงกระบอก (?) โดยมีบุรุษคนที่สองกำลังยืนจ้องมองด้วยความสนใจ

หากเป็นไปได้แล้วพิธีกรรมที่แสดงบนภาพสลักรูปนี้อาจจะหมายถึง พิธีเบิกพรหมจรรย์ของสาวพรหมจารี โดยมีนักบวชเป็นผู้ประกอบพิธีก็ได้ (สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ 2539:393) ซึ่งเป็นพิธีของลัทธิฮินดูตันตระ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น