เรือนพื้นถิ่นในภาคเหนือ
ปัจจุบันเรานับเอาดินแดนตอนบนของไทย ได้แก่ เขต 8 จังหวัดในภาคเหนือ คือจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน ลำพูน ลำปาง แพร่ เป็นภูมิภาคล้านนา เพราะเป็นดินแดนของอาณาจักรล้านนาในอดีต และมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกันเป็นแบบล้านนา มีเมืองเชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง
การตั้งถิ่นฐาน- สภาพทางภูมิศาสตร์ของภาคเหนือที่เป็นที่ราบลุ่มภูเขาและหุบเขาทำให้มีลักษณะของการตั้งถิ่นฐาน 2 แบบ คือ
1. - ตั้งบนที่สูง ตามทิวเขา หุบเขา ได้แก่กลุ่มชาติพันธ์ต่างๆ(ชาวเขา) ปลูกข้าวไร่หรือทำไร่เลื่อนลอย
2. - ตั้งตามที่ราบลุ่ม ทำนาแบบทดน้ำระบบเหมืองฝาย น้ำท่วมขังต้นข้าวซึ่งมีความแน่นอนและได้ผลผลิตสูงกว่า พอเลี้ยงผู้คนได้เป็นจำนวนมาก
- ล้านนามีสภาพการตั้งถิ่นฐานและลักษณะหมู่บ้าน 3 ลักษณะ คือ
1. หมู่บ้านป่าหรือชนบท
เป็นหมู่บ้านที่ตั้งโดดเดี่ยวห่างไกล ติดต่อกับภายนอกน้อย จึงมีลักษณะที่เลี้ยงตัวเองมาก วัสดุก่อสร้างเรือนพักอาศัยเป็นวัสดุในท้องถิ่นเป็นหลัก การก่อสร้างก็เป็นการสร้างกันเองหรือลงแขก มากกว่าที่จะมีผู้มีอาชีพช่างสร้างให้
2. หมู่บ้านนอกเขตเมือง
มักเกิดตามแนวเส้นทางสัญจร มีตลาดและศูนย์กลางปกครองท้องถิ่นเป็นศูนย์กลาง เป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างเมืองกับชนบท หรือระหว่างชุมชนเอง หมู่บ้านเหล่านี้ได้รับความเจริญด้านการก่อสร้างจากเมือง มีวัสดุก่อสร้างใหม่ๆ มีการใช้ช่างก่อสร้างเช่น ช่างไม้ มากกว่าการสร้างกันเองหรือลงแขก อาคารมีความประณีตมากขึ้นและมีลักษณะเป็นอาคารถาวรมากขึ้น ใช้กระเบื้องมุงหลังคา เช่นกระเบื้องดินเผา กระเบื้องซิเมนต์
3. หมู่บ้านในเขตเมือง
หมู่บ้านเหล่านี้ อาจอยู่ภายในหรือชานเมืองใหญ่ที่เป็นศูนย์กลางหลักของจังหวัดหรือภูมิภาค ที่แม้ความเจริญทำให้เสียลักษณะของหมู่บ้านไปแล้ว แต่รูปแบบหรือลักษณะทางกายภาพของตัวเรือนยังคงมีเอกลักษณ์หลงเหลืออยู่ ส่วนใหญ่เป็นเรือนไม้ของชนชั้นกลาง
รูปแบบของหมู่บ้าน 2 ลักษณะ1. หมู่บ้านแบบกระจายตัวตามแนวยาว (Linear scatter)
2. หมู่บ้านแบบกระจายเป็นกระจุก (Clustered scatter)
การจัดการน้ำด้วยระบบเหมืองฝายของชุมชนล้านนา
ด้วยภูมิประเทศที่ไม่ใช่ที่ราบเหมือนภาคกลาง แต่ประกอบไปด้วยภูเขา เนินและที่ราบสูงต่ำไม่เสมอกันของล้านนา การนำน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติคือแม่น้ำสายต่างๆไปสู่พื้นที่ต่างๆที่ห่างไกลออกไปเพื่อการบริโภคและเกษตรกรรมจึงต้องอาศัยการชลประทานที่ดีและได้ผล ชาวล้านนารู้จักการทำระบบชลประทานมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์มังรายหรือก่อนหน้านั้นและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มีข้อเท็จจริงเกี่ยวกับระบบเหมืองฝายของล้านนาดังนี้
- พงศาวดารโยนกตอนหนึ่งว่า “ข้าจักลอมน้ำอันหนึ่งฟากน้ำปิง กล้ำวันออกให้เป็นแม่น้ำ ให้ชาวบ้านชาวเมืองแป๋งฝายเอาน้ำเข้านา”
- ชุมชนทำระบบเหมืองฝายเอง ทางการหรือชนชั้นปกครองไม่ได้ทำให้ แต่จะกำหนดนโยบายหรือให้คำแนะนำหรือจัดการเหมืองฝายขนาดใหญ่ให้ และส่งน้ำให้ชาวบ้านจัดการระบบเหมืองฝายขนาดเล็กในแต่ละชุมชนเอง
- ชนชั้นปกครองขุดเหมืองทำฝายเป็นพิธีกรรมแสดงอำนาจ เช่น พญามังรายขุดร่องน้ำประกาศชัยชนะต่อลำพูน
- มังรายศาสตร์กำหนดให้เป็นการร่วมแรงกันสร้างและบำรุงรักษาเหมืองฝาย มีการกำหนดโทษในการขโมยน้ำและทำเหมืองฝายชำรุดไว้ว่า “มันผู้ใดทำลายฝาย ให้เอาไปตัดหัว”
- ชาวล้านนามักเลือกทำเหมืองฝายบริเวณที่มีห้วยไหลมาจากเขา หรือตอนบนสุดของที่ราบ โดยทำทำนบกั้นแล้วส่งน้ำไปตามลำเหมืองสู่ที่ราบข้างล่าง
- เหมืองขนาดใหญ่ทำขวางลำน้ำ ยกระดับน้ำขึ้น ไหลสู่ลำเหมืองส่งไปเลี้ยงทุ่งนาได้เป็นบริเวณกว้าง โดยทำลำเหมืองขนาดต่างๆลดหลั่นกันไป
- ฝาย ใช้ไม้เป็นหลัก ตอกกั้นลำน้าเป็นแนวหนา โคนเสาเป็นตะแกรงไม้ไผ่สาน บรรจุแขนงไม้ลงไป หินกรวดทรายเททับลงไปเป็นคันกั้นน้ำ
- เหมืองเก่าแก่ คือ เหมืองแข็ง สร้างสมัยพญามังราย อ้ายฟ้าเกณฑ์ชาวหริภุญชัย มาขุดเหมืองขนาดใหญ่เชื่อมน้ำกวงกับน้ำแม่ปิงผ่านบริเวณพันนาเชียงเรือ ต่อมาสมัยพญากือนาเปลี่ยนชื่อเป็น เหมืองแก้ว
- แก่ฝาย และแก่เหมือง คือหัวหน้าชาวบ้านที่คอยดูแลการแจกจ่ายน้ำ ยุติข้อพิพาทแย่งน้ำ และปัญหาอื่นๆในการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงการกำหนดวันเวลาในการเกณฑ์กำลังชาวบ้านมาสร้างหรือซ่อมแซม ขุดลอก เหมืองฝาย ซึ่งชาวบ้านจะเลือกผู้ใหญ่ที่ชาวบ้านยอมรับนับถือ มีคุณธรรม ชาวบ้านเชื่อถือ
- ปัจจุบันยังมีหลายพื้นที่ที่ชาวบ้านร่วมกันวางกฎระเบียบการใช้น้ำขึ้นใช้เฉพาะถิ่น ต่างๆกันไปแล้วแต่พื้นที่ มีธรรมเนียมการลงโทษผู้ฝ่าฝืน แต่ลดน้อยลงไปมาก ความเจริญ อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยวเข้าสู่พื้นที่ เกิดความขัดแย้ง แก่ฝาย แก่เหมืองก็ไม่สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยหรือยุติข้อพิพาทได้ เพราะเป็นนายทุนจากนอกพื้นที่
เรือนไม้ล้านนา
เป็นเรือนของผู้มีฐานะดี ใช้ไม้จริงทั้งหลัง ใต้ถุนสูง หลังคามุงกระเบื้อง มีขนาดใหญ่ขึ้น อาจมีมากกว่า 1 ห้องนอน เป็นเรือนที่คลี่คลายแบบแผนการสร้างมาจากเรือนกาแล ใช้รูปแบบและความพิถีพิถันน้อยลง เพราะเป็นเรือนสำหรับสามัญชนที่กฎเกณฑ์ด้านฐานานุศักดิ์สถาปัตยกรรมลดลง จากเดิมที่สามัญชนจะสร้างได้แต่เรือนไม้บั่วเท่านั้น เรือนไม้จริงหรือเรือนกาแลนั้นสงวนไว้สำหรับผู้มีศักดิ์ทางสังคมสูง อาจเป็นผู้นำในสังคมหรือเจ้านาย หลังคาทรงสูงของเรือนกาแลถูกปรับลดลง ป้านลง ไม่มีการประดับตกแต่ง ซึ่งอาจเป็นเพราะไม่ต้องการทำให้ทัดเทียม หรือเป็นเพราะฐานะราคาที่ถูกกว่าทรงสูง หรืออาจเป็นเพราะมีวัสดุมุงหลังคาชนิดใหม่ๆเกิดขึ้น เช่นกระเบื้องคอนกรีต สังกะสี ความจำเป็นที่ต้องทำหลังคาทรงสูงให้น้ำฝนไหลเร็วเพื่อแก้ปัญหาหลังคารั่วจากวัสดุมุงแบบเก่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือไม่มีการประดับกาแล แต่แบบแผนการใช้พื้นที่หรือผังพื้นยังคงเป็นแบบหรือใกล้เคียงแบบประเพณีเดิม
เรือนไม้มีการใช้ช่างไม้ออกแบบก่อสร้างแทนการสร้างเองโดยเจ้าของและเพื่อนบ้าน ทำให้รูปแบบของเรือนประเภทนี้จึงแตกต่างกันไปมากมาย มีความซับซ้อนทางสถาปัตยกรรมมากขึ้น นอกชานด้านหน้าบ้านเหลือน้อยลง หรือตัดออกไป หรือเพิ่มหลังคาคลุมส่วนชานนี้เสีย
เรือนไม้นี้ ในระยะต่อมาเมื่อล้านนารับวัฒนธรรมการปลูกเรือนจากภาคกลางในช่วงรัชกาลที่ 5 ก็มีการปรับเปลี่ยนเพิ่มความซับซ้อนทางสถาปัตยกรรม ประดับประดามากขึ้นตามแบบแผนบ้านพักอาศัยในกรุงเทพฯที่ได้รับอิทธิพลจากเรือนพื้นถิ่นอังกฤษที่เรียกว่า เรือนขนมปังขิง และมีการใช้ลายไม้ฉลุประดับตกแต่ง ชาวบ้านเรียกเรือนในยุคนี้ว่า เฮือนสมัยกลาง โดยเรียกเรือนไม้ตามแบบเดิมว่า เฮือนบ่าเก่า
ผังเรือนไม้ที่ยังคงรักษารูปแบบเรือนแฝด มีช่องระเบียงทางเดินแคบๆกั้นกลางและเป็นช่องทางเดินออกไปสู่ส่วนหลังบ้านซึ่งมักจะเป็นครัวไฟและชานหลัง มีเติ๋นอยู่ในตำแหน่งเดิมที่เคยมีในเรือนกาแล คือหน้าห้องนอนและมีประตูติดต่อกัน
เรือนไม้แบบเรือนแฝด
เรือนไม้แบบเรือนเดี่ยว ที่มีนอกชานวิ่งยาวตามแนวระเบียงทางเดิน
เรือนไม้แบบเรือนแฝดขนาดใหญ่ที่อำเภอแม่แจ่ม
มีเรือนขวางอยู่ด้านหน้าคลุมส่วนชานหน้าไว้ และเรือนขวางด้านหลังเป็นครัวไฟ
เรือนหลังนี้ยกใต้ถุนสูงเพื่อใช้งานเอนกประสงค์ บันไดขึ้นสู่ชานหน้ามีหลังคาคลุม ใต้ชานพักบันไดมีกระเบื้องดินขอที่เก็บไว้สำหรับซ่อมแซมหลังคา เพราะกระเบื้องดินขอนั้นบอบบางและแตกหักง่าย
เรือนไม้แบบเรือนร้านค้า สร้างหันด้านยาวและชิดทางสัญจร เพื่อเปิดร้านค้าขายที่ชั้นล่าง
เรือนสมัยกลางที่ยังเป็นเรือนแฝดแต่ประดับตกแต่งด้วยไม้ฉลุลาย
เรือนไม้สมัยกลาง
เรือนสมัยกลางในจังหวัดลำพูนที่มีหลังคาซับซ้อน
เรือนสมัยกลางในจังหวัดลำพูนที่ตกแต่งด้วยไม้ฉลุลายอย่างงดงาม
การใช้เกล็ดไม้ติดตายในเรือนสมัยกลางประเภทเรือนร้านค้าที่ย่านวัดเกตุ
วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2552
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น