วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

ปราสาทตาพรหม

ปราสาทตาพรหม
• ปีที่สร้าง : สร้างในปลายปีพุทธศตวรรษที่ 18 (พ.ศ. 1729)
• รัชสมัย : รัชสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 และมีการขยายพื้นที่สร้างต่อเติมอีกในรัชสมัยของพระเจ้าอินทรวรมันที่ 2
• ศิลปะ : เป็นศิลปะแบบบายน
• ศาสนา : ศาสนาพุทธ นิกายมหายาน


• ปราสาทตาพรหมจัดได้ว่าเป็นวัดในพุทธศาสนาและเป็นวิหารหลวงในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทางเข้าประกอบด้วยโคปุระชั้นนอกและชั้นใน บริเวณผนังที่อยู่เชื่อมระหว่างโคปุระชั้นนอกและชั้นในมีการสลักภาพตามคติธรรมของพุทธศาสนานิกายมหายาน ปราสาทแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1729 เพื่ออุทิศให้แก่พระราชมารดาของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 คือพระนางชัยราชจุฑามณีผู้เปรียบประดุจกับพระนางปรัชญาปรมิตา ซึ่งหมายถึงเมื่อพระองค์เป็นอวตารของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร พระราชมารดาของพระองค์จึงเปรียบดังพระนางปรมิตาเช่นกัน
• ปราสาทตาพรหมถูกสร้างเคียงคู่กับปราสาทพระขรรค์ ซึ่งพระองค์ทรงถวายอุทิศให้กับพระราชบิดา ปราสาทตาพรหมนี้สร้างหลังปราสาทพระขรรค์เพียง 5 ปี ที่น่าประหลาดใจคือพิธีในปราสาทยุคนั้น ซึ่งจารึกกล่าวถึงบรรดาผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างปราสาทแห่งนี้คือ จำนวนคนและบรรดาทรัพย์สินจากหมู่บ้านจำนวนถึง 3,140 หมู่บ้าน ใช้คนทำงานถึง 79,365 คน และจำนวนนี้มีพระชั้นผู้ใหญ่ 18 รูป เจ้าหน้าที่ประกอบพิธี 2,740 คน ผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ประกอบพิธี 2,202 คน และนางฟ้อนรำอีก 615 คน สำหรับทรัพย์สมบัติของวัดก็มีจานทองตำ 1 ชุดหนักกว่า 500 กิโลกรัม และชุดเงินเพชร 35 เม็ด ไข่มุก 40,620 เม็ด หินมีค่าและพลอยต่างๆ 4,540 เม็ด อ่างทองคำขนาดใหญ่ ผ้าบางสำหรับคลุมหน้าจากประเทศจีน 876 ผืน เตียงคลุมด้วยผ้าไหม 512 เตียง ร่ม 523 คัน ยังมีเนย นม น้ำอ้อย น้ำผึ้ง ไม้จันทน์ การบูร เสื้อผ้า 2,387 ชุดเพื่อแต่ง รูปปั้นต่างๆ กล่าวกันว่าความฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อนี้เองเป็นเหตุให้เกิดความล่มสลายของอาณาจักรขอมในเวลาต่อมา

• ปราสาทแห่งนี้เป็นปราสาทที่ถูกปล่อยให้อยู่กับธรรมชาติ หลังจากการค้นพบปราสาทต่างๆ โดยชาวฝรั่งเศส แต่เดิมปราสาทนครวัดเองก็อยู่ในลักษณะเช่นนี้ก่อนที่จะมีการบูรณะในต้นพุทธศตวรรษที่ 25 ในขณะที่ปราสาทตาพรหม ถูกเก็บรักษาไว้เพื่อให้เห็นสภาพที่แท้จริงว่าปราสาทอยู่กับธรรมชาติมาได้เกือบ 500 ปี อันเป็นอีกมุมมองหนึ่ง เพื่อให้เห็นลักษณะของต้นไม้ที่เกาะกุมปราสาท
• เดิมก่อนสร้างปราสาทนั้นสภาพบริเวณนี้เป็นป่ามาก่อน เมื่อจะสร้างปราสาทจึงต้องเคลียร์พื้นที่ให้เป็นที่โล่ง โดยการตัดไม้ออกแต่ในที่สุดแล้วธรรมชาติก็สามารถที่จะเอาชนะถาวรวัตถุที่ถูกสร้างจากมนุษย์ ต้นไม้ที่เกาะกุม ชอนไชไปเรื่อยๆ ไปยังส่วนต่างๆของปราสาท ช่วยให้บรรยากาศของปราสาทตาพรหมดูลึกลับ สวย ไม่เหมือนปราสาทที่อื่นๆ

• ที่ปราสาทตาพรหมมีต้นไม้อยู่ 2 ชนิด ต้นที่ใหญ่ที่สุดเรียกว่า ต้นสะปง หรือภาษาไทยเรียกว่า ต้นสำโรง เป็นต้นไม้ยืนต้นเนื้ออ่อน รกของมันจะดุดน้ำใต้ดินเข้าลำต้นทำให้นกดูป่อง พอง ส่วนพันธุ์ไม้อีกพันธุ์หนึ่งเป็นไม้เลื้อยขึ้นอยู่ตามหน้าบัน ทับหลังหรือตัวปราสาท หลังคา ลักษณะเป็นไม้พุ่ม ไม้ล้มลุก บ้างก็แห้งตายคาอยู่ บ้างก็ยังเขียวสดอยู่ เกิดจากการที่นกมาขับถ่ายมูลที่มีเมล็ดของพันธุ์นี้ทิ้งไว้ บริเวณใดของปราสาทที่มีน้ำขังอยู่มีตะไคร่น้ำที่ให้ความชุ่มชื้น ก็สามารถทำให้เมล็ดพันธุ์เติบโตเป็นต้นได้ ทั้งไม้เล็กและไม้ใหญ่ต่างเติบโตตามสภาวะที่เอื้ออำนวยรากของไม้ใหญ่ที่แทรกชอนไชไปบนแผ่นศิลา เพื่อจะหาที่ลงดินเกิดเป็นรูปทรงคล้ายหนวดปลาหมึกเกาะกุมองค์ปราสาททำให้ช่วยประคองยึดตัวปราสาทไม่ให้พังลงมาได้
• จากโคปุระทางทิศตะวันออกมุ่งสู่ปรางค์ประธาน ผนังด้านซ้ายมือจะเป็นภาพสลักของคติธรรมทางพุทธศาสนาตอนพระแม่ธรณีบีบมวยผม ซึ่งเป็นตอนที่มารมาผจญเจ้าชายสิทธัตถะก่อนที่จะตรัสรู้สัมมาสัมโพธิญาณเป็นพระพุทธเจ้า ลักษระภาพจะเห็นบรรดาเหล่าพญามารต่างตื่นตกใจหนีกระแสน้ำที่เกิดจากการบีบมวยผมของพระแม่ธรณีจนพ่ายแพ้ไปในที่สุด
หลังจากโคปุระทางด้านทิศตะวันออกจะมีบรรณาลัยที่อยู่ทางซ้ายมือ หน้าบันเป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ประดับด้วยพวงมาลัย ทับหลังเป็นภาพนารายณ์บรรทมสินธุ์
• หน้าบันและทับหลัง ตามปรางค์ปราสาทและโคปุระ มีภาพสลักล้วนแต่เกี่ยวกับพุทธประวัติ นิกายมหายานเป็นส่วนใหญ่น่าเสียดายว่าภาพสลักบางภาพได้ถูกดัดแปลงให้เป็นภาพเกี่ยวกับศาสนาฮินดูไปในที่สุด ได้แก่พระพุทธรูปหรือพระพุทธเจ้าที่ถูกสกัดให้เป็นศิวลึงค์ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 8 ที่ทรงเลื่อมใสในศาสนาฮินดู
• ทางเข้าสู่ปรางค์ประธานจะอยู่ทางทิศตะวันออกและทิศตะวันตกเช่นเดียวกับในหลายๆ ปราสาท ทว่าปัจจุบันมีถนนตัดผ่านทั้ง 2 ทิศ นักท่องเที่ยวนิยมเข้าทางทิศตะวันตก ถ้าเป็นไปได้ควรจะเข้าทางโคปุระทางทิศตะวันออก อันเป็นคตินิยมของผู้สร้างปราสาททุกแห่งของขอม
ถัดจากบรรณาลัยจะได้พบวิหารเล็กๆ ซึ่งใช้เป็นที่ประกอบพีธีของพวกพราหมณ์ ซึ่งวิหารนี้จะมีการจุดไฟบูชาตลอดทั้งวันทั้งคืน ภูมิสถาปัตย์เช่นเดียวกับปราสาทพระขรรค์ ปรางค์ทางด้านทิศเหนือได้พังทลายลงมาหมดแล้ว เห็นแต่เพียงซากของเสา หน้าบันและทับหลังทับกันระเกะระกะ

• ทางก่อนจะเข้าโคปุระชั้นที่ 3 จะพบต้นสะปงขนาดใหญ่ ขึ้นปกคลุมตรงส่วนกลางของปราสาทแห่งนี้ ลำต้นขึ้นอยู่บนหลังคา โดยมีรากโอบอุ้มตัวปราสาทอยู่ก่อนจะไชลงพื้นดิน เป็นมุมที่นิยมมาถ่ายมาก
• หน้าบันที่อยู่ถัดจากปรางค์ประธาน เป็นภาพเรื่องรามเกียรติ์ตอนพระลักษณ์ พระราม และนางสีดาถูกขับไล่ออกจากเมือง จะเห็นพระรามเสด็จออกโดยมีม้าเป็นพาหนะ มีไพร่ฟ้าประชาชนตามส่งเสด็จที่สะดุดตาและแปลกคือภาพสลักข้างเสากรอบประตูของโคปุระชั้นที่ 3 ด้านทิศตะวันตก มีภาพสลักคล้ายไดโนเสาร์อยู่ 1 ตัว เมื่อเดินมาสุดทางที่จะออกปราสาทตาพรหม ก็จะพบโคปุระซึ่งมีลักษณะคล้ายทางเข้าสู่กำแพงเมืองนครธมแห่งเมืองพระนครนั่น คือภาพใบหน้าของพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรทั้ง 4 ทิศ อยู่เหนือโคปุระนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น