วันศุกร์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2552

เรือนกาแล

เรือนกาแล
เรือนกาแลเป็นเรือนสำหรับผู้มีฐานะทางสังคม หรือผู้นำชุมชน หรือชนชั้นสูงในสังคม เอกลักษณ์สำคัญคือมีกาแลไม้แกะสลักอย่างสวยงามประดับบนยอดจั่ว และเป็นเหตุให้เรียกเรือนประเภทนี้ว่า เรือนกาแล

เรือนกาแลปลูกสร้างด้วยไม้จริง มีความประณีตเรียบร้อยมากกว่าเรือนของสามัญชนทั่วไป มีแบบแผนการสร้างที่ชัดเจน และระเบียบมากกว่าเรือนทั่วไป เรือนกาแลเหลืออยู่น้อยมากในปัจจุบัน และที่เหลือเก็บไว้ก็เพราะเหตุผลด้านอนุรักษ์เป็นส่วนใหญ่ ส่วนเรือนกาแลที่ผู้คนใช้อยู่อาศัยกันจริงแทบจะหาไม่ได้แล้ว เพราะการเปลี่ยนแปลงค่านิยมการปลูกสร้างบ้านเรือน โดยเฉพาะในชนชั้นสูงในสังคมที่เคยเป็นกลุ่มที่ปลูกเรือนกาแลอยู่อาศัย ได้เปลี่ยนไปสร้างบ้านเรือนตามแบบกรุงเทพฯหรือตะวันตกเป็นส่วนมาก สามัญชนที่พอมีฐานะ มีศักยภาพที่จะปลูกสร้างบ้านเรือนมีราคาได้ก็สร้างเรือนไม้ ทั้งเรือนบ่าเก่าและเรือนสมัยกลางกันมากกว่า โดยดัดแปลงไปจากเรือนกาแลในระยะแรก ก่อนจะเปลี่ยนแปลงไปจากเรือนกาแลอย่างสิ้นเชิงในระยะต่อมา


ลักษณะของเรือนกาแล

- ลักษณะเป็นเรือนแฝดหรือเรียกว่าสองหลังร่วมพื้นขนาด 5 ห้องเสา

- เรือนแฝดและเรือนครัวเชื่อมกันแบบหลวมๆ และการประกอบเข้าด้วยกันของรูปทรงเป็นแบบ dynamic balance

- เรือนแฝดกาแลไม่นิยมทำให้มีขนาดเท่ากัน แต่ใหญ่กว่ากันเล็กน้อย โดยเรือนนอนพ่อแม่จะมีช่วงเสาด้านสกัด (Bay) กว้างกว่าเรือนอีกหลัง








กาแล ลักษณะเป็นไม้แกะสลัก 2 อันไขว้ประดับยอดจั่ว ความหมายไม่สามารถระบุได้ชัดเจน มีความเชื่อหลายอย่างเช่น ป้องกันแร้งและกามาเกาะบนหลังคา พม่าบังคับให้ติดเพื่อให้แตกต่างจากบ้านพม่า ข้อเท็จจริงคือมีเรือนของชาติพันธ์ต่างๆใช้สัญญลักษณ์แบบเดียวกัน เช่น ไทลื้อ ไทดำ ลัวะ ลาว เขมร อินโด มาเลย์ ฯลฯ ซึ่งล้วนบูชาควายประกอบพิธีทั้งสิ้น และบางแห่งใช้เขาควายประดับบนสันหลังคาด้วย

ประกอบกับการทำฝาเรือนด้านข้างผายออก และเรียกแผ่นไม้แกะสลักเหนือประตูห้องนอนว่า หำยนต์ จึงมีผู้สันนิษฐานว่า ชาวล้านนาต้องการออกแบบเรือนให้มีลักษณะของควาย ใช้กาแลแทนเขา ฝาผายออกคล้ายลำตัวควาย และเรียกหำยนต์ซึ่งอยู่ตำแหน่งใกล้เคียงกับหำของควาย



ยกใต้ถุนสูง ใช้งานเอนกประสงค์พื้นที่ใต้ถุนเรือน



มีฮ่อมรินแล่นกลาง มีระดับพื้นต่ำกว่าระดับพื้นเรือนนอน มักทำเป็นช่องโล่งหัวท้ายไม่กั้นฝา

ฮ่อมริน คือ ระเบียงทางเดินที่อยู่ระหว่างเรือนแฝดสองหลัง ซึ่งมีรางน้ำวิ่งอยู่ตรงกลาง (ฮ่อม=ช่องหรือร่อง, ริน=รางน้ำ)



เติ๋น พื้นที่กึ่งเปิดโล่ง ยกพื้น เอนกประสงค์ เปรียบเหมือน Living room หรือ Living Area ใช้งานสารพัด ตั้งแต่ ทำงานต่างๆ นั่งพักผ่อน ต้อนรับแขก ตลอดจนกางมุ้งนอนบริเวณนี้
ฝาเรือนบริเวณเติ๋นนี้ บางครั้งจะทำฝาไหล เปิดรับลมเมื่อนั่งอยู่ที่เติ๋นได้



ระเบียง(พื้นที่เปิดโล่งมีหลังคาคลุม)และชาน(พื้นที่เปิดโล่งไม่มีหลังคาคลุม)เป็นพื้นที่เชื่อมหน่วยต่างๆเข้าด้วยกัน
และมีร้านน้ำสร้างลอยตัวลักษณะคล้ายเรือนหลังเล็กอยู่บริเวณชานหน้าใกล้บันได หรือชานหลังใกล้ครัว



ประตูเรือนนอนที่ติดกับเติ๋นนิยมติดหำยนต์ ป้องกันความชั่วร้ายหรืออัปมงคลเข้าไปในเรือนนอน และใช้เป็นเหมือนสัญญลักษณ์แสดงเขตหวงห้าม หรือที่ส่วนบุคคลให้บุคคลอื่นรู้และไม่ล่วงเข้าไป หำยนต์เป็นของเฉพาะบุคคลที่มีขนาดเป็นจำนวนเท่าของความยาวปลายเท้าถึงส้นเท้าของเจ้าของเรือน กี่เท่าก็แล้วแต่จะได้ความยาวประมาณช่องประตู ต้องเป็นไม้แผ่นเดียวแกะสลักลวดลายสวยงาม หากมีการขายเรือน เจ้าของจะแกะหำยนต์ไว้ไม่ขายไปพร้อมกับเรือน

1 ความคิดเห็น: